อ่าวไทย | พื้นที่ ความลึก อาณาเขต ทรัพยากร และลักษณะทางภูมิศาสตร์

อ่าวไทย (Gulf of Thailand หรือ Gulf of Siam) เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ที่ยื่นเข้ามาในพื้นที่ส่วนแผ่นดินใหญ่ของอาเซียน โดยมีประเทศที่มีอ่าวไทยเป็นฝั่งทะเลจำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว อ่าวไทยถึงจะเป็นเขตน่านน้ำแต่ก็ถือว่าเป็นเขตอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย การกระทำความผิดใด ๆ จึงต้องได้รับการพิจารณาจากศาลไทยเท่านั้น



ลักษณะทางภูมิศาสตร์
อ่าวไทยเป็นน่านน้ำทะเลแบบกึ่งทะเลปิด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกโอบล้อมด้วยประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม โดยมีทางด้านใต้ที่เป็นทะเลเปิดและเชื่อมต่อกับทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอ่าวไทยเป็นแบบทะเลขนาดเล็ก มีความลึกไม่มาก ไม่มีภูเขาไฟใต้ทะเล ไม่มีรอยแยกขนาดใหญ่ที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ อีกทั้งยังมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทำให้เกิดการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่ได้ ถึงจะเกิดได้ก็ไม่บ่อยนัก ต่างจากเขตมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นน่านน้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก มีการก่อตัวของพายุไต้ฝุ่นมากกว่าปีละ 20 ลูก ในส่วนของความยาวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยนั้น มีความยาวทั้งหมดประมาณ 1,840 กิโลเมตร (วัดจากเมืองเมืองโกตาบารู ผ่านประเทศไทย กัมพูชา ไปจนถึงปลายแหลมญวน)

นอกจากนี้น้ำทะเลของอ่าวไทยยังมีความเค็มต่ำ (ความเข้มเกลือประมาณ 3.05-3.25%) และมีตะกอนสูง มีอาหารสำหรับสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก


อาณาเขต
ทิศเหนือ : ติดต่อกับภาคกลาง และภาคตะวันออก
ทิศตะวันออก : ติดต่อกับภาคตะวันออก ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม
ทิศใต้ : ติดต่อกับภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย และทะเลจีนใต้
ทิศตะวันตก : ติดต่อกับภาคใต้และภาคตะวันตก


พื้นที่
อ่าวไทยมีพื้นที่รวม 300,858.76 ตารางกิโลเมตร จุดบนสุดของอ่าวไทยอยู่ตรงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจุดใต้สุดคือบริเวณเส้นตรงที่ลากเชื่อมต่อระหว่างแหลมกาเมาหรือจุดปลายสุดของแหลมญวนทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ไปยังเมืองโกตาบารูของประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ห่างกัน 381 กิโลเมตร เลยจากเส้นตรงนี้ไปจะเป็นพื้นที่ของทะเลจีนใต้


ความลึก
อ่าวไทยจัดเป็นเขตทะเลน้ำตื้น โดยมีความลึกเฉลี่ยเพียง 58 เมตร และมีจุดที่ลึกที่สุดเพียง 85 เมตรเท่านั้น จึงเหมาะกับการใช้เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของสัตว์ทะเล ดังนั้นพื้นที่บริเวณอ่าวไทยจึงเหมาะกับการทำประมงมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอ่าวไทยนั้นเป็นเขตที่มีการทำประมงกันอย่างหนาแน่น ทั้งเรือประมงขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ และจากความอุดมสมบูรณ์นี่เอง ทำให้มีเรือต่างชาติลักลอบทำการประมงในเขตอ่าวไทยอยู่บ่อยครั้ง


ทรัพยากรธรรมชาติ
อ่าวไทยนับเป็นน่านน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาก ทั้งสัตว์น้ำ แนวปะการังที่สวยงาม รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลายแห่ง ทั้งในส่วนพื้นที่ของประเทศไทยเองและพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน แหล่งขุดเจาะที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น แหล่งขุดเจาะจัสมิน แหล่งขุดเจาะบานเย็น แหล่งขุดเจาะบัวหลวง แหล่งขุดเจาะบงกช แหล่งขุดเจาะเอราวัณ แหล่งขุดเจาะบรรพต แหล่งขุดเจาะปลาทอง แหล่งขุดเจาะสตูล แหล่งขุดเจาะไพลิน และแหล่งขุดเจาะทานตะวัน เป็นต้น


น้ำมันและก๊าซธรรมชาติพบได้ทั่วไปในอ่าวไทย

จังหวัดที่ติดกับอ่าวไทย
จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับอ่าวไทยมี 17 จังหวัด ได้แก่
1. จังหวัดนราธิวาส
2. จังหวัดปัตตานี
3. จังหวัดสงขลา
4. จังหวัดนครศรีธรรมราช
5. จังหวัดสุราษฎร์ธานี
6. จังหวัดชุมพร
7. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
8. จังหวัดเพชรบุรี
9. จังหวัดสมุทรสงคราม
10. จังหวัดสมุทรสาคร
11. กรุงเทพมหานคร
12. จังหวัดสมุทรปราการ
13. จังหวัดฉะเชิงเทรา
14. จังหวัดชลบุรี
15. จังหวัดระยอง
16. จังหวัดจันทบุรี
17. จังหวัดตราด


แม่น้ำที่ไหลลงอ่าวไทย
แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่อ่าวไทยหรือมีจุดสิ้นสุดของแม่น้ำที่อ่าวไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี


เกาะในอ่าวไทย
อ่าวไทยมีเกาะทั้งหมด 374 เกาะ (จากทั้งหมด 936 เกาะ) โดยเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย คือ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ 236.079 ตารางกิโลเมตร ส่วนเกาะอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เกาะพงัน เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะเต่า และเกาะล้าน เป็นต้น


การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ทะเลเป็นสิ่งที่สำคัญและประเทศไทยของเราได้ทำมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เพื่ออนุรักษ์และปกป้องสัตว์ทะเลในฤดูวางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อไม่ให้สัตว์ทะเลเหล่านี้สูญพันธุ์หรือหมดไปจากอ่าวไทย ดังนั้นประเทศไทยจึงประกาศให้มีการปิดอ่าวเป็นประจำ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม ของทุกปี

ดังนั้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี กรมประมงจะมีการควบคุมการทำประมงให้เป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไล่ลงมาถึงจังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร


ปลาทู สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของอ่าวไทย


ความรู้รอบตัวที่น่าสนใจ
--------------------------------



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ