เทศบาลคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

คำถาม ... เทศบาลคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

เฉลย ...
เทศบาล (Municipality) คือ การปกครองท้องถิ่นรูปหนึ่งของประเทศไทยตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง  กล่าวคือ รัฐบาลกลาง หรือ ราชการบริหารส่วนกลางกระจายอำนาจการปกครองไปให้ประชาชนในท้องถิ่น ให้มีอิสระที่จะดำเนินการปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา เพราะเป็นการจำลองรูปแบบการปกครองประเทศมาใช้ในท้องถิ่น 

เทศบาลต่าง ๆ ในประเทศไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งได้กำหนดให้การจัดตั้ง การเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนแปลงเขต หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะของเทศบาล ให้กระทำเป็นพระราชกฤษฎีกา 

เทศบาลมี 3 ประเภท ดังนี้
1. เทศบาลตำบล
เทศบาลจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นที่มีความเจริญพอสมควร และสามารถมีรายได้พอสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ ปรกติจะตั้งขึ้นในท้องถิ่นของอำเภอต่าง ๆ ที่มิใช่อำเภอเมือง หรือท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด เช่น เทศบาลตำบลป่าก่อดำ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นต้น เทศบาลตำบลมีสมาชิกเทศบาลได้ 12 คน มีคณะเทศมนตรี 3 คน (นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีอีก 3 คน) โดยทั่วไปแล้วตำบลที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรอาศัยอยู่มากพอสมควร จะถูกตั้งเป็นเทศบาลตำบล 

ส่วนตำบลที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรน้อย และมีรายได้ต่ำ จะถูกจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลแทน ส่วนในตำบลที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ไม่เข้าเกณฑ์การยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ก็อาจจะมีการจัดตั้งทั้งเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าบริหารตำบลนั้น ๆ โดยแบ่งพื้นที่กันดูแล ไม่ให้ทับซ้อนกัน


2. เทศบาลเมือง
เทศบาลเมืองจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมชนที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป โดยประชากรเหล่านั้นอยู่หนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน/ตารางกิโลเมตร ทั้งมีรายได้พอสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ เทศบาลเมืองมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 18 คน มีคณะเทศมนตรีได้ 3 คน เช่นเดียวกับเทศบาลตำบล ส่วนใหญ่เทศบาลเมืองจะตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองเพราะเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด ดังนั้นในแต่ละจังหวัดอย่างน้อยจะมีเทศบาลเมือง 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองอาจจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นอำเภออื่นนอกจากอำเภอเมืองก็ได้ เช่น เทศบาลเมืองบางบัวทอง ตั้งขึ้นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น


3. เทศบาลนคร
เทศบาลนคร ตั้งขึ้นในท้องถิ่นชุมชนที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป โดยประชาชนเหล่านั้นอยู่กันอย่างหนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน/ตารางกิโลเมตร ทั้งมีรายได้พอสมควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ เทศบาลนครมีสมาชิกสภาเทศบาล 24 คน และมีคณะเทศมนตรี 5 คน (นายกเทศมนตรีและเทศมนตรีอื่นอีก 4 คน) ตัวอย่างเช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครรังสิต เทศบาลนครแม่สอด และเทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นต้น




เทศบาลทุกแห่งจะมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุด และมีสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ทำหน้าที่ออกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือกฏระเบียบ ซึ่งเรียกกฎเหล่านี้ว่า เทศบัญญัติ โดยที่ทั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในพื้นที่ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

ประเทศไทยมีเทศบาลอยู่ทั้งหมด 2,472 แห่ง แบ่งออกเป็น
1. เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
2. เทศบาลเมือง 195 แห่ง
3. เทศบาลนคร 30 แห่ง

สภาเทศบาล
1. เทศบาลตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 12 คน
2. เทศบาลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 18 คน
3. เทศบาลนคร ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 24 คน

หมายเหตุ ...
1. ประเทศไทยมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 5,300 แห่ง
2. ข้อมูลจำนวนเทศบาล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563
3. วันที่ 24 เมษายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันเทศบาล

เรื่องน่ารู้
- รายชื่อเทศบาลนครในประเทศไทย
- รายชื่อเทศบาลเมืองในประเทศไทย



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ