สัตว์ประจำชาติอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ มีอะไรบ้าง?

สัตว์ประจำชาติอาเซียน หมายถึง สัตว์ที่ถูกยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ ซึ่งบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราก็มีสัตว์ประจำชาติเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยแต่ละประเทศก็มีสัตว์ประจำชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งแทบทั้งหมดจะเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์หรือมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับชนชาติของตนเอง คราวนี้เรามาดูกันว่าสัตว์ประจำชาติอาเซียนมีอะไรกันบ้าง มาดูกันเลย...


สัตว์ประจำชาติอาเซียน มีดังนี้ (เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ)

1. สัตว์ประจำชาติของประเทศบรูไน คือ เสือโคร่ง (Tiger)

เสือโคร่งสายพันธุ์เอเชีย (Asian Tiger) สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในป่าของประเทศบรูไน เนื่องจากประเทศบรูไนมีพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก แถมมีประชากรน้อย ที่ทางทำมาหากินมีเหลือเฟือ สัตว์ป่าจึงไม่ถูกรบกวนมากนัก ทำให้เสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์นักล่าตะกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สามารถอาศัยอยู่ในป่าของบรูไนได้อย่างสบาย และด้วยความสง่างามน่าเกรงขามของเสือโคร่งเจ้าป่านี่เอง ทำให้เสือโคร่งได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศบรูไน

เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและเป็นสัตว์กินเนื้อ มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าทั่วไปของทวีปเอเชีย เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวโดยเฉลี่ยจากหัวไปจนถึงโคนหาง 1.4-2.8 เมตร หางยาว 60-100 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 130-260 กิโลกรัม มีขนลำตัวสีน้ำตาลเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีลายสีดำ พาดขวางตลอดทั้งลำตัว ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ชัดเจน เสือโคร่งมีพฤติกรรมและอุปนิสัยชอบอยู่เพียงลำพังตัวเดียวโดด ๆ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งจะพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุได้ 3-5 ปี โดยจะตกลูกครั้งละ 1-6 ตัว โดยแม่เสือจะเลี้ยงลูกอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนลูกเสือจะแยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง

ปัจจุบันเสือถูกจัดอยู่ในบัญชีแดงของ IUCN หมายถึงกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เพราะในช่วงที่ผ่านมาจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติลดลงอย่างมาก ทั้งจากพื้นที่ป่าถูกรุกล้ำแผ้วถางมากขึ้น และการถูกล่าโดยมนุษย์ด้วยความเชื่อผิด ๆ ในเรื่องสรรพคุณของอวัยวะบางส่วนของมัน


เสือโคร่ง สัตว์ประจำชาติบรูไน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเสือโคร่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panthera tigris
สกุล : แพนเทอรา (Panthera)
วงศ์ : เสือและแมว (Felidae)
อันดับย่อย : เฟลิฟอเมีย
อันดับ : สัตว์กินเนื้อ (Carnivora)
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ใกล้สูญพันธุ์


2. สัตว์ประจำชาติของประเทศกัมพูชา คือ กูปรี (Kouprey)

กูปรีหรือโคไพร (Kouprey) เป็นสัตว์ตะกูลวัวป่าหรือกระทิงชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากไม่มีผู้พบเห็นกูปรีในธรรมชาติมานานมากแล้ว กูปรีเป็นสัตว์กีบเท้าคู่ มีลำตัวขนาดใหญ่ สีน้ำตาลเข้ม โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูง 1.7-1.9 เมตร ขนาดลำตัวยาว 2.1-2.2 เมตร น้ำหนัก 700-900 กิโลกรัม ตัวผู้จะโค้งเป็นวงกว้าง แล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า ปลายเขาแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ขาทั้ง 4 มีถุงเท้าสีขาวเช่นเดียวกับกระทิง และตัวผู้จะตัวใหญ่และสีเข้มกว่าตัวเมีย

มีรายงานการพบกูปรีในธรรมชาติแถบพรมแดนไทย-กัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถแสดงการมีอยู่จริงได้ จนหลายฝ่ายได้ลงความเห็นว่าสัตว์ชนิดนี้ได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติไปอย่างถาวรแล้ว

สมเด็จเจ้านโรดมสีหนุอดีตกษัตริย์ของกัมพูชาได้ทรงประกาศให้กูปรีเป็นสัตว์ประจำชาติกัมพูชา นอกจากนี้ยังพบว่ากูปรียังเป็นส่วนหนึ่งของตราสัญญลักษณ์ของ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์อีกด้วย เพื่อเน้นถึงความสำคัญของสัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้



ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของกูปรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos sauveli
สกุล : Bos Urbain, 1937
วงศ์ย่อย : วงศ์ย่อยวัวและควาย
วงศ์ : วงศ์วัวและควาย
อันดับ : สัตว์กีบคู่
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์


3. สัตว์ประจำชาติของประเทศอินโดนีเซีย คือ มังกรโคโมโด

มังกรโคโมโด (Komodo dragon) เป็นสัตว์เลื้อยคลานตะกูลกิ้งก่าและตะกวด (ตัวเงินตัวทองหรือเหี้ย) เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น กล่าวคือ มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะโกโมโด เกาะรินจา เกาะโฟลเร็ซ และเกาะกีลีโมตังในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น แถมยังเป็นสัตว์ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ดังนั้นมันจึงถูกยกขึ้นเป็นสัตว์ประจำชาติของอินโดนีเซีย

มังกรโคโมโดสัตว์โบราณตะกูลตะกวดชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดความยาวเฉลี่ย 2-3 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม ลำตัวมีสีเทาไปจนถึงดำ มีนิสัยดุร้ายกว่าสัตว์อื่นในตะกูลเดียวกัน ชอบอยู่เป็นฝูงใหญ่ กินเนื้อเป็นอาหาร มักล่าเหยื่อด้วยการกัดที่รุนแรงแล้วปล่อยให้เหยื่อหนีไป ไม่นานเหยื่อก็จะตายลงด้วยเชื้อโรคมากมายที่อยู่ในน้ำลายของมัน จากนั้นมันจึงค่อยตามไปกินเหยื่อในภายหลัง

ปัจจุบันมังกรโคโมโดถูกอยู่ในสถานะสัตว์ที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากมีจำนวนเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียงราว 4,000 ตัว โดยมีสาเหตุมาจากจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวของเมืองมากขึ้น เหยื่อในธรรมชาติมีจำนวนลดลง รวมถึงการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมที่รุกล้ำไปเข้ายังเขตหากินของมัน


มังกรโคโดโม สัตว์ประจำชาติอินโดนีเซีย

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของมังกรโคโดโม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Varanus komodoensis
สกุลย่อย : Varanus Ouwens, 1912
สกุล : Varanus
วงศ์ : เหี้ย
อันดับ : กิ้งก่าและงู
ชั้น : สัตว์เลื้อยคลาน
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ใกล้สูญพันธุ์

หมายเหตุ เคยมีนักวิชาการไทยเสนอให้เปลี่ยนชื่อเหี้ยเป็นวรนุช ใครเห็นที่มาของคำว่าวรนุชบ้าง ^ ^


4. สัตว์ประจำชาติของประเทศลาว คือ ช้าง

พื้นที่ของสปป.ลาว ในอดีตคืออาณาจักรล้านช้าง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ช้างถูกยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศลาว (เช่นเดียวกับประเทศไทย) โดยช้างในประเทศลาวนั้นถูกนำมาใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น เป็นช้างศึกในการสงคราม การชักลากไม้ การใช้แรงงานอื่น ๆ ตลอดจนในพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเรียกได้ว่าช้างนั้นมีความผูกพันกับวิธีชีวิตของคนลาวมาตั้งแต่ครั้งอดีต

แต่ปัจจุบันสถานะของช้างในประเทศลาวเริ่มน่าเป็นห่วง เนื่องจากป่าไม้ลดจำนวนลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากถูกตัดทำลายลงอย่างมากจากการสัมปทานตัดไม้ และการสร้างเขื่อนนับร้อยแห่งใน สปป.ลาว ทำให้พื้นที่ป่าต้องจมน้ำไปเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารของช้างลดลง จนกระทบต่อจำนวนของช้างในธรรมชาติ

ช้างเอเชีย (Asian elephant) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ (รองจากวาฬและช้างแอฟริกา) เป็นสัตว์กินพืช ชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูง (เรียกว่าโขลง) ลำตัวมีสีเทา มีจมูกยาว ๆ เรียกว่างวง ช้างเพศผู้จะเรียกว่า ช้างพลาย ช้างตัวผู้ที่ไม่มีงา (หรืองากุดสั้น) เรียกว่าช้างสีดอ หรือ พรายสีดอ ส่วนช้างตัวเมียจะเรียกว่าช้างพัง และช้างตัวเมียที่เป็นจ่าโขลง (หัวหน้าฝูง) จะเรียกว่าแม่แปรก ช้างเอเชียเมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 2-4 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3-5 ตัน โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย กินใบ ต้นอ่อน และยอดพืชเป็นอาหาร โดยกินประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวต่อวัน

ทั้งช้างเอเชียและช้างแอฟริกันถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (บัญชีแดงของ IUCN) อันเนื่องมาจากมีจำนวนในธรรมชาติลดลงอย่างมาก ทั้งจากพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของช้างลดลงอย่างมาก ทั้งจากการบุกรุกแผ้วถาง การตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการถูกล่าเอางาจากฝีมือมนุษย์เอง


ช้าง ... สัตว์ประจำชาติลาวและไทย

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของช้างเอเชีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : E. maximus
สกุล : Elephas
วงศ์ : Elephantidae
อันดับ : Proboscidea
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ใกล้สูญพันธุ์


5. สัตว์ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย คือ เสือโคร่งมลายู

เสือโคร่งมาลายู (Malayan Tiger) เป็นสัตว์ตะกูลแมวที่มีลักษณะเฉพาะ พบมากทางภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศมาเลเซีย รวมถึงสามารถพบได้ในป่าดิบชื้นของประเทศเช่น เขตเพนนิซูล่า กลันตัน ตรังกานู เประ ปะหัง รวมถึงเขตนอกป่าในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐปะหัง และรัฐยะโฮร์ นอกจากนี้ยังพบเสือโคร่งมาลายูในป่าตอนใต้สุดของประเทศไทยที่ติดกับชายแดนมาเลเซียอีกด้วย ด้วยเหตุที่เป็นสัตว์สายพันธุ์ประจำถิ่นที่มีความโดดเด่น เสือโคร่งมลายูจึงถูกยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะปรากฏอยู่ในตราสัญญลักษณ์ของประเทศมาเลเซียแล้ว คนไทยยังนิยมเรียกสิ่งต่างที่เป็นของมาเลเซียว่า "เสือเหลือง" ซึ่งคำว่าเสือเหลืงหมายถึงเสือโคร่งมลายูนั่นเอง

เสือโคร่งมาลายู เป็นสายพันธุ์เสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงมาก เป็นนักล่าและกินเนื้อเป็นอาหารเช่นเดียวกับเสือโคร่งทั่วไป โดยมีขนาดใหญ่กว่าเสือโคร่งอินโดจีนที่พบทั่วไปบนแผ่นดินใหญ่อาเซียน แต่มีขนาดเล็กกว่าเสือโคร่งเบงกอล เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะมีความยาวถึง 2.6-2.8 เมตร ในขณะที่ตัวเมียจะสั้นกว่าเล็กน้อย โดยมีความยาวประมาณ 2.4 เมตร ความสูงเฉลี่ย 0.6-1.1 เมตร หนัก 110 กิโลกรัม

ปัจจุบันเสือโคร่งมาลายูอยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น มีสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากพบเสือโคร่งชนิดนี้อยู่ในธรรมชาติเพียง 80 ถึง 120 ตัวเท่านั้น และยังมีแนวโน้มลดลงไปอีก


เสือโคร่งมาลายู สัตว์ประจำชาติมาเลเซีย

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเสือโคร่งมาลายู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panthera tigris jacksoni
สปีชีย์ย่อย : P. t. jacksoni
สปีชีส์ : Panthera tigris
สกุล : แพนเทอรา
วงศ์ : เสือและแมว (Felidae)
อันดับ : สัตว์กินเนื้อ (Carnivora)
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ใกล้สูญพันธุ์


6. สัตว์ประจำชาติของประเทศพม่า คือ เสือโคร่ง

เสือโคร่ง (Tiger) สัตว์นักล่าตะกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ล่าเก่ง วิ่งเร็ว รวมถึงว่ยน้ำและปีนต้นไม้เก่ง ชอบอาศัยอยู่ในป่าลึกและป่าดงดิบ นับได้ว่าเป็นนักล่าที่สมบูรณ์แบบที่สุด รวมถึงเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่าได้อย่างดีเยี่ยม และประเทศพม่าก็มีคุณสมบัติตรงนี้ครบทุกอย่าง เนื่องจากมีป่าดงดิบผืนใหญ่เป็นจำนวนมาก ยังไม่ค่อยมีผู้คนเข้าไปรบกวน ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งต่อการอยู่อาศัยและเป็นหากินของเสือ ดังนั้นประเทศพม่าจึงเป็นประเทศที่มีจำนวนเสือในธรรมชาติมากที่สุดของอาเซียน

ด้วยเหตุผลด้านบนรวมถึงเสน่ห์ของความเป็นนักล่าที่ยอดเยี่ยมและน่าเกรงขาม เสือโคร่งจึงถูกยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศพม่า


เสือโคร่ง สัตว์ประจำชาติของพม่า (เมียนมาร์)

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเสือโคร่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panthera tigris
สกุล : แพนเทอรา (Panthera)
วงศ์ : เสือและแมว (Felidae)
อันดับย่อย : เฟลิฟอเมีย
อันดับ : สัตว์กินเนื้อ (Carnivora)
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ทั่วโลก : ใกล้สูญพันธุ์


7. สัตว์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ คือ ควาย

ควาย (Water Buffalo) เป็นสัตว์ที่ชาวฟิลิปปินส์ผูกพันมาก เนื่องจากควายถูกใช้เป็นเครื่องผ่อนแรงทั้งในด้านการเกษตรกรรม รวมถึงด้านการชักลากและบรรทุกสิ่งของ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีเครื่องจักรกลเข้ามาทำงานแทนควายแล้ว แต่ชาวฟิลิปปินส์ก็ยังคงอนุรักษ์ควายเอาไว้ พร้อมยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของตน

ในภาษาตากาล็อคซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของฟิลิปปินส์นั้น ควาย แปลว่า คาราบาว และคุณแอ๊ด คาราบาว จบการศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์ คราวนี้เพื่อน ๆ นึกออกหรือยังว่าทำไมวงดนตรีเพื่อชีวิตของคุณแอ๊ดจึงชื่อว่าคาราบาว และใช้หัวและเขาควายเป็นสัญญลักษณ์ของวง

ควาย หรือ กระบือ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตะกูลเดียวกับวัว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ควายบ้าน และ ควายป่า (มหิสา) เป็นสัตว์ที่มีสี่ขา เท้าเป็นกีบ ตัวขนาดใกล้เคียงกับวัว จะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย มีผิวสีเทาถึงดำ มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี


ควาย สัตว์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเสือโคร่งมาลายู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bubalus bubalis
สปีชีส์ : Bubalus bubalis
สกุล : Bubalus
วงศ์ : วงศ์วัวและควาย
วงศ์ย่อย : วงศ์ย่อยวัวและควาย
อันดับ : สัตว์กีบคู่
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ปกติ


8. สัตว์ประจำชาติของประเทศสิงคโปร์ คือ สิงโต

ประเทศสิงคโปร์ เดิมมีชื่อว่าเมืองสิงหปุระ (Singapura) ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งสิงโต ซึ่งอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปอยู่พอสมควร เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีป่าไม้หรือพื้นที่ที่เหมาะกับการอยู่อาศัยและหาอาหารของสิงโตเลย อีกทั้งสิงโตเป็นสัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดและแหล่งอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ไม่ใช่ในทวีปเอเชีย (ยกเว้นประเทศอินเดีย) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เคยมีรายงานการพบสิงโตในธรรมชาติเลย แต่ถึงกระนั้นสิงโตก็ยังได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของสิงคโปร์ 

สิงโต (Lion) เป็นสัตว์นักล่าในตะกูลแมวใหญ่เช่นเดียวกับเสือโคร่ง เป็นนักล่าที่ปราดเปรียว ว่องไวและทรงพลัง สามารถล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้สบาย โดยทั่วไปสิงโตจะมีขนาดใหญ่กว่าเสือทั่วไป แต่เล็กกว่าเสือเบงกอล ลักษณะโดยทั่วไปจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาล ไม่มีลาย ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ขนปลายหางเป็นพู่ ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง เพื่อร่วมกันล่าเหยื่อ ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม โดยตัวเมียจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย แต่มักจะทำหน้าที่ล่าเหยื่อ สิงโตในธรรมชาติจะมีอายุขัยประมาณ 10-14 ปี

จำนวนสิงโตในธรรมชาติกำลังลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจากการถูกรุกล้ำที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร รวมถึงจำนวนสัตว์ที่เป็นเหยื่อในธรรมชาติลดลง ดังนั้นสถานะในการอนุรักษ์ของสิงโตจึงอยู่ในสถานะ "ไม่มั่นคง"


สิงโต สัตว์ประจำชาติของประเทศสิงคโปร์

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของสิงโต

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Panthera leo
สปีชีส์ : Panthera leo
สกุล : แพนเทอรา (Panthera)
วงศ์ : เสือและแมว (Felidae)
อันดับ : สัตว์กินเนื้อ (Carnivora)
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ไม่มั่นคง


9. สัตว์ประจำชาติของประเทศไทย คือ ช้าง

ช้าง (Elephant) ถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตตราบจนถึงปัจจุบัน โดยมีการประมาณกันว่าในอดีตประเทศไทยเคยมีช้างนับแสนตัว ทั้งช้างป่าและช้างบ้าน ช้างมีบทบาทในสังคมไทยมากมาย ทั้งเป็นพระเอกในสนามรบ ทั้งในเรื่องการใช้แรงงาน และการใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ในปัจจุบันถึงแม้จะไม่มีการใช้ช้างในการทำสงครามแล้ว แต่ช้างก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการท่องเที่ยวของไทย และยังเป็นสัตว์คู่พระบารมีของกษัตริย์ไทยทุกพระองค์อีกด้วย

ช้างยังเคยปรากฏอยู่ในธงชาติไทยอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ดังเช่นปัจจุบัน (เรียกว่าธงช้างเผือก) แต่ก็ยังมีหลายหน่วยงานที่ใช้ช้างเป็นสัญญลักษณ์อยู่ เช่น ธงราชนาวีไทย คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และทีมฟุตบอลทีมชาติไทย (ทีมช้างศึก) เป็นต้น

และด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา ชาวไทยจึงยกย่องให้ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สถานะของช้างไทยในปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมาก จำนวนในธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการอนุรักษ์ทั้งช้าง แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหาร มีโรงพยาบาลช้างและศูนย์อนุรักษ์ช้างหลายแห่งทั่วประเทศ  รวมถึงมีกฏหมายห้ามล่าช้างอย่างเด็ดขาดพร้อมด้วยบทลงโทษที่รุนแรง กล่าวได้ว่าสถานการณ์ช้างในประเทศไทยไม่น่าห่วง จำนวนช้างในธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เราคนไทยทุกคนก็ต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้อย่างเคร่งครัดต่อไป


ช้าง ... สัตว์ประจำชาติของประเทศไทยและลาว

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของช้างเอเชีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : E. maximus
สกุล : Elephas
วงศ์ : Elephantidae
อันดับ : Proboscidea
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ทั่วโลก : ใกล้สูญพันธุ์


10. สัตว์ประจำชาติของประเทศเวียดนาม คือ ควาย

เวียดนามเป็นประเทศเกษตรกรรมเช่นเดียวกับประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ดังนั้นควายจึงเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรมาก โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาที่ได้ศัยแรงควายในการไถนา บรรทุก และลากจูง และด้วยที่การทำนาเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ดังนั้นชาวเวียดนามจึงมีความผูกพันกับควายมากเป็นพิเศษ โดยสามารถพบเห็นการเลี้ยงควายได้ทั่วไป และด้วยเหตุนี้ควายจึงถูกยกย่องให้เป็นสัตว์ประจำชาติของเวียดนาม

ควาย หรือ กระบือ (Water Buffalo) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตะกูลเดียวกับวัว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ควายบ้าน และ ควายป่า (มหิสา) เป็นสัตว์ที่มีสี่ขา เท้าเป็นกีบ ตัวขนาดใกล้เคียงกับวัว จะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย มีผิวสีเทาถึงดำ มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี


ควาย สัตว์ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์


ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเสือโคร่งมาลายู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bubalus bubalis
สปีชีส์ : Bubalus bubalis
สกุล : Bubalus
วงศ์ : วงศ์วัวและควาย
วงศ์ย่อย : วงศ์ย่อยวัวและควาย
อันดับ : สัตว์กีบคู่
ชั้น : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia)
ไฟลัม : สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata)
อาณาจักร : สัตว์
สถานะการอนุรักษ์ : ปกติ


หมายเหตุ

อาเซียน (ASEAN, The Association of Southeast Asian Nations) หรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นองค์กรความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา


------------------------------------------

เรื่องน่ารู้อาเซียน



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ