โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) น่ากลัวแค่ไหน? สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน

คำถาม ... โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) น่ากลัวแค่ไหน? สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เฉลย ...
ฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ สัตว์สู่คน และเริ่มมีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนได้ในปัจจุบัน โดยที่โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์มีใช้ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู รวมถึงมนุษย์ก็สามารถติดเชื้อและเป็นพาหะของโรคได้

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่พบการระบาดมากในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ในปัจจุบันเริ่มพบการระบาดในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป อิสราเอล และออสเตรเลีย เหตุผลก็เนื่องมาจากการเดินทางที่สะดวกขึ้น และคนที่มีเชื้อก็สามารถเป็นพาหะพาเชื้อเดินทางไปได้ทั่วโลก เช่นเดียวกับโรคโควิด-19


ตุ่มหนองตามผิวหนัง อาการระยะลุกลามของโรคฝีดาษลิง


สาเหตุของโรคฝีดาษลิง
1. การสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
2. การถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน
3. การกินเนื้อสัตว์ป่าที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
4. การสัมผัสหรือเข้าไปอยู่ในที่นอนของสัตว์ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน
5. การสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย
6. การสัมผัสทางระบบทางเดินหายใจกับผู้ป่วย (ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่)
7. การสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีเชื้ออยู่

อาการของฝีดาษลิง
เมื่อร่างกายมนุษย์รับเชื่อไวรัสฝีดาษลิงเข้าไป ตัวไวรัสจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7-14 วัน จากนั้นเริ่มมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นไปทั่วร่างกาย เช่น บริเวณแขน ขา ลำตัว และใบหน้า ต่อมาผื่นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิต 10% ของผู้ป่วย


Poxviridae virus หรือ Monkeypox virus ต้นเหตุของโรคฝีดาษลิง


วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก  
3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการตรวจคัดกรองโรค  
5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัว
6. งดเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโรคนี้


การลักลอบค้า / นำเข้า สัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย เป็นสาเหตุหนึ่ง
ของการนำเชื้อโรคจากสัตว์เข้ามาสู่คน


จะเห็นว่าอาการทั่วไปของโรคฝีดาษลิงนั้นเหมือนกับฝีดาษคน (ไข้ทรพิษ) ที่เคยระบาดในอดีตแทบทุกอย่าง เนื่องจากเป็นโรคในตระกูลเดียวกัน แต่ฝีดาษคนนั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% จึงต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกัน (ที่เราเรียกกันว่าปลูกฝีนั่นแหละ) และโรคนี้ได้หายไปจากประเทศไทยมาซักระยะหนึ่งแล้ว ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้ยกเลิกการปลูกฝีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ดังนั้นผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 จะได้รับการปลูกฝีกัน (เกือบ) ทุกคนแล้ว และยังมีประสิทธิภาพป้องกันโรคฝีดาษลิงได้สูงถึง 85% ส่วนผู้ที่เกิดหลังจากการยกเลิกการฉีดวัคซีนตัวนี้ จะต้องสังเกตุอาการตัวเอง ถ้าเริ่มมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

เครดิต : ข้อมูลบางส่วนจากเพจ หมอแล็บแพนด้า

สายพันธุ์ของไวรัส
เชื้อไวรัสกลุ่ม Othopoxvirus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฝีดาษลิงนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ ได้แก่
1. สายพันธุ์ West African Clade เป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตราว 1%

2. สายพันธุ์ Central African Clade เป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคได้รุนแรงมากกว่ากลุ่มแรก โดยผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10%

อัพเดทสถานการณ์การระบาดของโรคฝีดาษลิงทั่วโลก
21 พ.ค. 2565
- ประเทศเนเธอร์แลนด์และอิสราเอลยืนยันพบผู้ติดเชื้อคนแรก

23 พ.ค. 2565

- พบการติดเชื้อ 92 ราย ใน 12 ประเทศ คือ  ออสเตรเลีย, เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, สเปน สวีเดน, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

30 พ.ค. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย รายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 1 ราย มีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินในไทย 2 ชั่วโมงเพื่อเดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย แต่ทั้ง 12 รายยังไม่มีใครแสดงอาการของโรค

1 มิ.ย. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าทั่วโลกพบผู้ป่วยแล้วใน 32 ประเทศ จำนวน 494 คน เป็นผู้ป่วยยืนยัน 406 คน และต้องสงสัย 88 คน
- องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุด 555 คน ใน 32 ประเทศ

2 มิ.ย. 2565
- พบการระบาดของโรคฝีดาษลิงมากกว่า 30 ประเทศ (นอกทวีปแอฟริกา) ตรวจยืนยันแล้วว่าเป็นฝีดาษลิงมากกว่า 600 ราย
- องค์กรความมั่นคงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อคนสู่คน โดยรายงานผู้ติเชื้อแล้ว 132 ราย โดย Cluster ใหญ่สุดเป็นกลุ่มชายรักชาย
- กรมควบคุมโรคกังวลการจัดงานไพรด์พาเหรด จำนำเชื้อฝีดาษลิงเข้าไทย จับตานักเดินทางจาก 6 ประเทศเข้าไทย ได้แก่ แอฟริกา อังกฤษ โปรตุเกส สเปน แคนาดา และเยอรมนี
- องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดฝีดาษลิง ระบาดมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมาแสดงอาการการระบาดในวงกว้าง
- ประเทศอิตาลีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศ เพิ่มเป็น 20 ราย

4 มิ.ย. 2565
- CDC หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา รายงานการตรวจพบไวรัสฝีดาษลิง 2 สายพันธ์ุในผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในอเมริกา จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐขณะนี้มี 20 คนใน 11 มลรัฐ (เป็นชาย 19 คน หญิง 1 คน) โดยทั้ง 2 สายพันธ์ุที่พบล้วนเกี่ยวข้องกับไวรัสฝีดาษลิงสายพันธ์ุที่ระบาดในไนจีเรียตั้งแต่ปี 2017

5 มิ.ย. 2565
-  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา หรือ CDC รายงานพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงทั่วโลกแล้วมากกว่า 700 ราย โดยในสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อ 21 ราย
- ผลการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โรคฝีดาษลิงที่ระบาดนอกทวีปแอฟริกา เป็นการติดเชื้อในผู้ชายสูงถึง 98% และเป็นการติดเชื่อในผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-50 ปีเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ในแอฟริกาพบผู้ติดเชื้อเป็นผู้ชาย 70% ผู้หญิง 30% ที่เป็นการติดเชื้อในทุกกลุ่มอายุ

6 มิ.ย. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขไทยรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกแล้ว 990 คน (ยืนยัน 920 ต้องสงสัย 70 คน) แต่ยังไม่พบในประเทศไทย ส่วนมากติดเชื้อจากคนสู่คนและเป็นผู้ชายเป็นส่วนใหญ่
- ขณะนี้โรคได้ระบาดไปแล้ว 43 ประเทศ โดยที่ประเทศอังกฤษมีรายงานผู้ติดเชื้อสุงสุดจำนวน 207 คน

7 มิ.ย. 2565
- สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่าโรคฝีดาษลิงจะถูกกำหนดให้เป็นโรคที่สามารถแจ้งการระบาดต่อทางการ (notifiable disease) นับจากวันพุธที่ 8 มิถุนายนนี้ ซึ่งหมายความว่า บรรดาแพทย์ในสหราชอาณาจักรจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น เมื่อพวกเขาสงสัยว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาเพิ่มการเตือนภัยระดับ 2 สำหรับผู้เดินทางให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันขั้นสูงอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคฝีดาษลิง และแนะนำพบแพทย์ทันทีหากมีผื่นที่ผิวหนังใหม่โดยไม่ทราบสาเหตุ

8 มิ.ย. 2565
- องค์การอนามัยโลกรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงทั่วโลก จำนวน 1,019 คน กระจายในทุกทวีปที่มีผู้คนอาศัยอยู่ (ยกเว้นแอนตาร์กติกา ; ขั้วโลกใต้)

9 มิ.ย. 2565
- องค์การอนามัยโลก รายงานยอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาทะลุ 1,000 คนแล้ว ใน 29 ประเทศ
- ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริการะบุว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายทางอากาศและติดต่อทางอากาศได้ ถ้าอยู่ใกล้กันมากพอและนานพอ
- โปรตุเกสรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อกว่า 150 คน สูงเป็นอันดับ 3 ในยุโรป รองจากสเปน (200 คน) และประเทศอังกฤษ (300 คน)
- คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศเพิ่มโรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
- องค์การอนามัยโลกรายงานผลการถอดจีโนมหรือรหัสพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง พบว่ามีการระบาด 2 สายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าไวรัสโควิด-19
- อิสราเอลรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายที่ 4 ของประเทศ โดยมีประวัติเพิ่มเดินทางกลับจากต่างประเทศ

10 มิ.ย. 2565
- กรมควบคุมโรครายงานการแพร่ระบาดฝีดาษลิง รวม 1,186 ราย ใน 44 ประเทศ  ขณะที่ไทยยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ
- บราซิลยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของประเทศในเมืองเซาเปาโล

11 มิ.ย. 2565
- สหรัฐอเมริกาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงเพิ่มอีกจำนวน 500,000 โดส จากบริษัทบาวาเรียน นอร์ดิก ประเทศเดนมาร์ก จากเคยสั่งซื้อไว้แล้ว 1.4 ล้านโดส หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 45 คน
- จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นเป็น 1,300 คน ใน 29 ประเทศ ส่วนใหญ่พบการระบาดอยู่ในยุโรป

12 มิ.ย. 2565
- องค์การอนามัยโลกรายงานผู้ติดเชื้อยืนยันทั่วโลกแล้ว 1,588 ราย เข้าข่ายติดเชื้ออีก 68 ราย รวมทั้งหมด 1,656 ราย โดยที่ประเทศสเปนมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 369 ราย รองลงมาคือสหราชอาณาจักร 360 ราย และ โปรตุเกส จำนวน 209 ราย ตามลำดับ

14 มิ.ย. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ เปิดเผยว่าในรอบ 24 ชั่วโมง พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายใหม่เพิ่มขึ้น 104 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสะสมในอังกฤษอยู่ที่ 470 คน โดยที่ร้อยละ 99 เป็นกลุ่มชายรักชาย
- องค์การอนามัยโลก กำลังศึกษาที่จะเปลี่ยนชื่อโรคฝีดาษลิงเป็นชื่ออื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อโรคซึ่งสื่อถึงภูมิภาคหรือสัตว์

15 มิ.ย. 2565
- เม็กซิโกรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศแล้ว 5 ราย 
- สหภาพยุโรปสั่งซื้อวัคซีนฝีดาษลิง 109,090 โดส เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาด
- มีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงรายแรกนอกทวีปแอฟริกา โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศบราซิล
- มีรายงานการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงแล้ว 39 ประเทศ
- องค์การอนามัยโลกกำลังตรวจสอบกรณีตรวจพบเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในน้ำอสุจิ เกรงจะเกิดการติดต่อทางเพศสัมพันธ์

16 มิ.ย. 2565
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลก 1,900 คน ในกว่า 30 ประเทศนอกแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป โดยประเทศอังกฤษพบผู้ติดเชื้อสูงที่สุดกว่า 500 คน
- WHO เตรียมพิจารณาโรคฝีดาษลิงว่าเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขหรือไม่

18 มิ.ย. 2565
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สุ่มตรวจลิงลพบุรี ปรากฎว่าไม่พบเชื้อฝีดาษลิงแต่อย่างใด
- ประเทศลักเซมเบิร์ก ชิลี และเซอร์เบีย รายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงคนแรกของประเทศ

19 มิ.ย. 2565
- องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว 2,103 คน ใน 42 ประเทศ
- องค์การอนามัยโลกจะจัดประชุมฉุกเฉิน ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เพื่อพิจารณาว่าจะจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในขณะนี้ได้อย่างไร

22 มิ.ย. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิง ผู้ป่วยเป็นชายชาวอังกฤษอายุ 42 ปี เป็นพนักงานบนเครื่องบิน ได้เดินทางเข้าออกสิงคโปร์ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565

23 มิ.ย. 2565
- จำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็น 3,417 คนใน 58 ประเทศ
- สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ หรือ KDCA ยืนยันการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศรายแรก โดยเป็นชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางจากเยอรมนี

24 มิ.ย. 2565
- ไต้หวันรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศ หลังเดินทางกลับมาจากประเทศเยอรมนี
- เยอรมนีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายใหม่ 71 ราย เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในหนึ่งวัน โดยมียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งประเทศ 592 คน

25 มิ.ย. 2565
- จำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลก เพิ่มทะลุ 3,500 คนแล้วในกว่า 50 ประเทศ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยุโรปตะวันตก

26 มิ.ย. 2565
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

28 มิ.ย. 2565
- ยอดผู้ติดเชื้อยืนยันทั่วโลก 4,119 ราย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป โดยอังกฤษติดเชื้อสูงสุด 873 ราย สเปน 736 รสย และเยอรมนี 676 ราย

2 ก.ค. 2565
- ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 5,000 ราย ใน 51 ประเทศ โดยผู้ติดเชื้อ 90% อยู่ในยุโรป

7 ก.ค. 2565
-  รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยัน พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจากการติดเชื้อภายในประเทศรายแรก

9 ก.ค. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย เพิ่มประกาศเพิ่มโรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

10 ก.ค. 2565
- ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานจำนวนผู้ป่วยฝีดาษลิงทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 8,238 ราย ซึ่งระบาดใน 57 ประเทศ โดยที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ประเทศที่มีการระบาดมากที่สุดคือ สหราชอาณาจักร จำนวน 1,552 ราย ตามมาด้วยประเทศเยอรมนี 1,490 ราย และประเทศสเปน 1,256 ราย

10 ก.ค. 2565
- รัสเซียรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกของประเทศ เป็นชายและเพิ่งเดินทางกลับจากยุโรป 

16 ก.ค. 2565
- ผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 10,000 ราย ใน 60 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย

20 ก.ค. 2565
- ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 14,000 คน ใน 70 ประเทศ โดยที่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดและอาจจะประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเร็ว ๆ นี้

21 ก.ค. 2565
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของประเทศไทย ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรียและเดินทางเข้าออกประเทศไทยหลายครั้งแล้ว

22 ก.ค. 2565
- ผู้ป่วยรายแรกของไทยได้หนีการรักษา โดยหนีออกจากจังหวัดภูเก็ตและเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาผ่านทางช่องทางธรรมชาติ

23 ก.ค. 2565
- ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา หรือ CDC เปิดเผยว่า พบเด็กเล็ก 2 ราย ติดเชื้อฝีดาษลิง โดยเป็นการติดเชื้อในครอบครัว ขณะนี้เด็กทั้งสองได้เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งการประกาศนี้จะทำให้องค์การอนามัยโลกสามารถระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้มากขึ้น และจะเกิดความร่วมมือระดับนานาชาติในการรักษา และแบ่งปันวัคซีน รวมทั้งการออกมาตรการด้านการค้าและการเดินทาง โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่สนามบินได้
- ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุด สูงกว่า 16,000 ราย ใน 71 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย
- ผู้ป่วยรายแรกของไทยที่หนีการรักษาถูกจับกุมได้ที่ประเทศกัมพูชา โดยทางการกัมพูชาได้ควบคุมตัวเพื่อทำการรักษาต่อไป

26 ก.ค. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานการพบผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นชายวัย 30 ปี ซึ่งมีประวัติเดินทางไปยุโรปและกลับถึงญี่ปุ่นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
- CDC ของสหรัฐอเมริกา รายงานยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก 18,095 รายใน 75 ประเทศ โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยสเปน และเยอรมนี

28 ก.ค. 2565
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งเข้ารับการรักษาที่วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ

29 ก.ค. 2565
ขกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์รายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงคนแรกของประเทศ เป็นชายวัย 31 ปี เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ

30 ก.ค. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขสเปนรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 3,750 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในขณะที่บราซิลรายงานผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงรายแรกของประเทศ

3 ส.ค. 2565
- กระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 3 ของประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ต โดยเป็นนักท่องเที่ยงชายชาวเยอรมันวัย 25 ปี ซึ่งเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

5 ส.ค. 2565
- ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา หรือ CDC รายงานยอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกล่าสุด จำนวน 26,208 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 6,616 ราย รองลงมาคือสเปน 4,577 ราย และอันดับสามคือประเทศเยอรมนี จำนวน 2,781 ราย ส่วนในประเทศไทยยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 3 ราย
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ป่วยรายที่ 4 ของประเทศไทย ในกรุงเทพมหานคร เป็นหญิงวัย 22 ปี มีประวัติเที่ยวสถานบันเทิงที่มีชาวต่างชาติเที่ยวเยอะ
- กัวเตมาลายืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกของประเทศ เป็นชายอายุ 31 ปี
- อินเดียยืนยันพบผู้ติดเชื้อเป็นหญิงคนแรกของประเทศ เป็นหญิงชาวไนจีเรีย อายุ 31 ปี ตรวจพบในกรุงนิวเดลี
- สหรัฐอเมริกาประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการรับมือและต่อสู้กับการระบาดหนักของฝีดาษลิงแล้ว

7 ส.ค. 2565
CDC ของสหรัฐอเมริการายงานยอดผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงล่าสุดทั่วโลกอยู่ที่ 28,220 ราย กระจายอยู่ใน 88 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสูงสุด 7,509 ราย ตามมาด้วยสเปน 4,942 ราย และเยอรมนี 2,887 ราย ตามลำดับ

15 ส.ค. 2565
กรมควบคุมโรครายงานว่า ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 5 เป็นหญิงชาวไทย อายุ 25 ปี เพิ่งเดินทางกลับจากเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเข้ามาถึงไทยวันที่ 14 ส.ค. 

17 ส.ค. 2565
ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกล่าสุดมีจำนวน 37,687 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดจำนวน 11,842 ราย ตามมาด้วยสเปน 5,946 ราย และเยอรมนี 3,186 ราย

20 ส.ค. 2565
กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกของประเทศในวันนี้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของผู้ป่วย

26 ส.ค. 2565
กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายที่ 6 ของประเทศไทย เป็นหญิงสัญชาติไทย ประกอบอาชีพพนักงานนวดแผนไทย เดินทางกลับจากประเทศกาตาร์ ตรวจพบเชื้อที่โรงพยาบาลในจังหวัดมหาสารคาม

28 ส.ค. 2565
กรมควบคุมโรค รายงานการพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงรายที่ 7 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพศหญิง มีประวัติมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ

31 ส.ค. 2565
สหรัฐอเมริการายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากฝีดาษลิง จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดมากกว่า 18,000 ราย ส่วนยอดติดเชื้ออทั่วโลกพุ่งทะลุ 48,000 ราย และเสียชีวิต 15 ราย

2 ก.ย. 2565
เบลเยี่ยมรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากโรคฝีดาษลิง แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ประเทศเบลเยี่ยมมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 709 ราย ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 51,000 รายแล้ว

9 ก.ย. 2565
ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 52,792 ราย เสียชีวิต 121 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน และบราซิล โดยมีผู้ติดเชื้อ 19,354, 6,618 และ 5,197 ราย ตามลำดับ

16 ก.ย. 2565
- กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงคนที่ 8 ของไทย เป็นชายอายุ 23 ปี ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากกาตาร์ สอบสวนประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีตุ่มบริเวณหลัง ลักษณะคล้ายสิว และเริ่มป่วย ขณะนี้เข้ารับการตรวจรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

- ประเทศจีน ยูเครน และจอร์แดน รายงานผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ

18 ก.ย. 2565
ยอดติดเชื้อยืนยันทั่วโลกล่าสุด 56,993 ราย เสียชีวิต 121 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และสเปน โดยมีผู้ติดเชื้อ 21,894, 6,807 และ 6,749 ราย ตามลำดับ ส่วนในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อยืนยัน 8 ราย

30 ก.ย. 2565
กรมควบคุมโรครายงานพบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงรายที่ 9 และ 10 ของประเทศไทย โดยรายที่ 9 เป็นเพศหญิงอายุ 37 ปี อาชีพพนักงานบริการ ส่วนรายที่ 10 เป็นชายชาวเยอรมันอายุ 54 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 9


อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ