พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีสาระสำคัญอะไรบ้าง?

คำถาม ... พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีสาระสำคัญอะไรบ้าง?

เฉลย ...
พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ พระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตร่วมกันของคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายกับชายหรือหญิงกับหญิง ซึ่งแต่เดิมนั้นกฎหมายไทย (และประเทศส่วนใหญ่ในโลก) ไม่รับรองสิทธิทางกฎหมายในการอยู่ร่วมกัน และ/หรือ การจัดกการทรัพย์สินร่วมกันของคนกลุ่มนี้เหมือนดังเช่นในการสมรสของเพศชายและเพศหญิง

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีดังนี้

1. คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้ 

3. การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น

4. กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ 

5. กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน 

6. คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)

7. ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน 

8. การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี

9. บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ป.พ.พ. แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้ 

10.เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก

สิทธิและหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีดังนี้

1. หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
2. อำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
3. สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
4. สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
5. สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
6. สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
7. สิทธิจัดการศพ

สีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ

ปัจจุบัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. ... ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และจะมีการนำพระราชบัญญัตินี้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

จะเห็นว่าสิทธิและหน้าที่ตลอดจนสาระสำคัญของพระราชบัญญัติคู่ชีวิตนี้ให้ความสำคัญต่อคู่ชีวิตเพศเดียวกันใกล้เคียงกับคู่สมรสต่างเพศ ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับในการยอมรับความทางหลายทางเพศของสังคมไทย เพื่อให้ทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ