ซื้อแอร์หรือเครื่องปรับอากาศ ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อแอร์ ต้องดูอะไรบ้าง?

เฉลย ...

อย่างที่รับรู้กันดีว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศที่ร้อนชื้นมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยของเรามี 3 ฤดู คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนโคตร ๆ โดยจะมีร้อนผสมฝนอยู่ราว 4 เดือน และมีอากาศเย็น ๆ มาให้ชื่นใจไม่กี่วัน (ไม่ต่างจากเงินเดือน - -")

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนทั้งปีแบบนี้ แอร์หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าเครื่องปรับอากาศจึงมีความจำเป็นไม่ใช่น้อย บ้านใครมีแอร์ก็อยู่สบายนอนสบายหน่อย แต่บ้านใครไม่มีก็ได้อาบเหงื่อต่างน้ำเวลานอนกันไป อาศัยเดินห้างรับแอร์หรือแอบเข้าไปเดินเล่นใน 7-11 บ่อย ๆ ก็พอจะช่วยได้บ้าง แต่อาจจะเปลืองค่าขนมจีบซาลาเปามากกว่าค่าไฟเท่านั้นเอง



คราวนี้มาดูกันว่า ถ้ามันร้อนจนทนไม่ไหว จำเป็นจะต้องซื้อแอร์มาประดับบารมีสักเครื่อง เราต้องดูอะไรกันบ้าง เพื่อจะได้แอร์ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน เย็นสบาย และกระเป๋าไม่ฉีก ... มาดูกันเลย


สิ่งที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องการซื้อแอร์หรือเครื่องปรับอากาศ

1. ขนาดห้อง
ขนาดของห้องคือปัจจัยแรกและปัจจัยที่สำคัญที่สุดเมื่อต้องการซื้อแอร์สักเครื่อง เพราะขนาดของเครื่องปรับอากาศต้องสัมพันธ์กับขนาดของห้อง ห้องใหญ่ซื้อแอร์เล็กก็ไม่เย็นแถมเปลืองไฟมาก (เพราะแอร์ต้องทำงานหนักตลอดเวลา) ห้องเล็กแต่ซื้อแอร์ใหญ่ก็เปลืองเงินโดยใช่ที่ เพราะแอร์ยิ่งเครื่องใหญ่  BTU สูง ยิ่งมีราคาแพง แล้วจะเอาอะไรมาเป็นมาตรฐานละ? ให้เราเริ่มจากวัดขนาดกว้างยาวและสูงของห้องที่ต้องการติดแอร์ เอาขนาดที่วัดได้ไปให้ร้านแอร์ดู เขาจะจัดแอร์ที่มีขนาดที่เหมาะสมและราคาแพงที่สุดให้ 5555+ หรือจะใช้หลักง่าย ๆ อีกอย่างก็ได้ คือ ใช้หลัก 20 ตารางฟุต / 1,000 BTU กล่าวคือ ถ้าห้องเรากว้าง 10 ฟุต ยาว 15 ฟุต พื้นที่รวมเท่ากับ 150 ตารางฟุต แอร์ที่เราจะซื้อต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 7500 BTU แต่ไม่ควรเกิน 15,000 BTU เป็นต้น

2. ประเภทของแอร์
แอร์มีให้เลือกหลายประเภท เลือกชนิดที่เหมาะกับเรามากที่สุด ชนิดของแอร์เช่น

2.1 แอร์แบบติดหน้าต่าง - แอร์ชนิดนี้แทบไม่มีขายในบ้านเราแล้ว แต่มักเห็นได้ในหนังฮ่องกง สังเกตุดูดี ๆ จะเห็นก้อนสี่เหลี่ยมติดอยู่ที่หน้าต่างคอนโดเต็มไปหมด นั่นแหละคือแอร์แบบติดหน้าต่าง

2.2 แอร์แบบแยกชิ้น - เป็นแอร์แบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบ้านเรา โดยจะมีตัวคอมเพรสเซอร์อยู่ด้านนอกห้อง (เจ้าตัวที่หมุน ๆ เสียงดังหึ่ง ๆๆๆ แล้วพ่นลมร้อนออกมานั่นแหละ) ส่วนตัวกระจายความเย็นอยู่ในห้องที่ต้องการ มีรีโมทคอนโทรลไว้กดเท่ ๆ อีก 1 อัน (ใครเคยหยิบรีโมทแอร์มารับสายแทนโทรศัพท์บ้าง 5555+)

2.3 แอร์แบบพกพา - แอร์ชนิดนี้จะเป็นแอร์ขนาดเล็ก เสียงดังไม่มาก เหมาะที่จะใช้กับห้องขนาดเล็ก เช่น บ้านพักริมทุ่ง บ้านพักคนงาน อพาร์ทเม้นต์โบราณที่ไม่มีแอร์ให้ และไม่ยอมให้เราติดแอร์อีกด้วย แอร์ชนิดนี้ราคาไม่แพง ไม่ต้องติดตั้ง เสียบปลั๊กก็ใช้ได้เลย แต่ความเย็นที่ได้ก็ตามสภาพ ดีกว่าพัดลมนิดนึง 5555+

2.4 พัดลมไอเย็น - พัดลมไอเย็นจะใช้หลักการดูดอากาศเข้ามาในเครื่องแล้วให้อากาศนั้นผ่านท่อน้ำหรือน้ำเย็น แล้วพ่นอากาศที่ถูกดูดความร้อนออกไปแล้วออกมา ข้อดีของพัดลมไอเย็นคือ เคลื่อนย้ายได้ ราคาไม่แพง แค่เติมน้ำหรือน้ำแข็งแล้วเสียบปลั๊ก ก็ใช้ได้เลย แต่ข้อเสียคือ ต้องคอยเติมน้ำหรือน้ำแข็ง อย่าให้แห้ง อีกเรื่องคือเสียงของเครื่องเวลาทำงาน บางเครื่องเย็นดีมากแต่เสียงดังจนนอนไม่หลับก็มี ดังนั้นควรให้พนักงานทดสอบให้ดูก่อนซื้อเสมอ ไม่เช่นนั้นเสียงกรนของคุณพ่อบ้านอาจกลายเป็นเรื่องจุ๋มจิ๋มไปเลยก็ได้ 

3. ระดับการใช้พลังงาน
ในหน้าร้อนนั้น เชื่อว่าทุกคนคงทำทุกทางเพื่อคลายร้อน บางคนก็เล่นน้ำ บางคนก็นั่งผึ่งพัดลม มีกี่ตัวก็เปิดจ่อหมด บางคนก็นั่งอยู่ในห้องแอร์แบบเย็นสบายชิวๆ แต่เวลาบิลค่าไฟมามักจะหัวร้อนจนแอร์กี่ BTU ก็เอาไม่อยู่ เพราะแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดชนิดหนึ่ง และมักเปิดกันแบบปล่อยลืม (คงไม่มีใครเปิดแอร์ 5 นาทีแล้วปิด) ทำให้บิลค่าไฟในช่วงหน้าร้อนจะสูงกว่าปกติ ดังนั้นเวลาเลือกซื้อแอร์ต้องเลือกแบบประหยัดไฟเบอร์ 5 เท่านั้น แถมหลายบ้านยังใช้วิธีแบบไฮบริดที่ล้ำมาก กล่าวคือ เปิดแอร์ไม่เย็นมาก เช่น 26-27 องศา แล้วเปิดพัดลมอีก 1 ตัวส่ายไปมา จะช่วยให้เย็นสบายและประหยัดไฟได้มากขึ้น นอกจากนี้การเลือกแอร์ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดพื้นที่ใช้งานก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้มากเช่นกัน

4. ระดับเสียงรบกวน
ถึงแม้เราจะนิยมใช้แอร์แบบแยกส่วนที่เอาเจ้าตัวคอมเพรสเซอร์ไปไว้นอกบ้าน แล้วเอาเฉพาะตัวพ่นลมเย็นมาไว้ในบ้านแล้วก็ตาม แต่เจ้าตัวพ่นลมเย็นนี้ก็ยังมีเสียงรบกวนอยู่ ควรเลือกรุ่นและยี่ห้อที่เสียงเงียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรื่องนี้ให้กระซิบถามเพื่อนบ้าน (ห้ามถามคนขาย) หรือจะหาอ่านรีวิวในเน็ตก็ได้ ยี่ห้อไหนทัวร์ลงเยอะ ๆ ให้หลบไว้ก่อน ส่วนแอร์แบบพกพาและพัดลมไอเย็นเราคงหนีเรื่องเสียงรบกวนไม่พ้นแน่นอน พยายามเลือกแบบที่เสียงเบาที่สุดเข้าไว้

5. การติดตั้ง
แอร์แบบแยกส่วนต้องได้รับการติดตั้งจากผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ช่างแอร์" (ไม่ใช่ช่างแอร์ในตำนานนะ ^ ^) ควรเลือกแบบที่ติดตั้งฟรีและไม่ต้องรอนาน อีกทั้งควรคำนึงถึงระบบไฟฟ้าในบ้านด้วยว่าเพียงพอต่อการติดตั้งแอร์หรือไม่ หรือจะต้องจัดตารางเวลาการใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้เหมาะสม เนื่องจากบ้านเรือนรุ่นเก่า ๆ ในประเทศไทยยังเป็นแบบ 5/15 แอมป์อยู่มาก ถ้าเปิดแอร์ รีดผ้า หุงข้าว เปิดปั้มน้ำ และซักผ้าพร้อม ๆ กัน อาจจะต้องโทรบอกดับเพลิงให้สแตนด์บายรอไว้ก่อนล่วงหน้า

6. การบำรุงรักษา
แอร์หรือเครื่องปรับอากาศไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อแล้วจบแบบหม้อหุงข้าวหรือเตารีด เพราะมันต้องการการบำรุงรักษาเป็นระยะ เช่น ต้องล้างแอร์ทุก ๆ 3-6 เดือน เป็นต้น ซึ่งการบำรุงรักษานี้ต้องจ้างช่างแอร์มาทำให้ สนนราคาราว 300-500 บาทต่อเครื่องต่อครั้ง ถ้าไม่ล้างแอร์เลย จะทำให้แอร์ไม่เย็นและกินไฟมาก ดังนั้นควรพิจารณาความถี่ที่ต้องล้างแอร์ด้วย เนื่องจากเราต้องจ่ายตรงนี้ต่อเนื่องจนกว่าจะตายจากกัน (ใครอยากประหยัดตรงนี้ ก็สามารถล้างแอร์เองได้ หาดูได้จาก YouTube ... มีตรึม)

7. ราคา
เครื่องปรับอากาศนั้นมีหลากหลายราคาให้เลือก ทั้งนี้ราคาจะขึ้นอยู่กับ BTU ระบบของแอร์ ระบบควบคุม ความทันสมัยของเทคโนโลยี ความประหยัดไฟฟ้า และยี่ห้อ เลือกให้เหมาะกับความต้องการและเงินในกระเป๋า ... ซื้อแอร์อย่าดูแค่ราคา ให้ดูขนาดและเทคโนโลยีประกอบด้วย

การซื้อแอร์หรือเครื่องปรับอากาศสักเครื่องนั้นไม่ได้มีแค่กำเงินไปซื้อ โยนแอร์ใส่หลังรถ แล้วขับกลับบ้าน แต่ว่ายังมีข้อต้องพิจารณาอีกมากมาย ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างน้อย 7 ข้อตามที่กล่าวไว้ด้านบน เพื่อที่จะให้ได้แอร์ที่เย็นสบาย ไม่หน้ามืดวิงเวียนเวลาเห็นบิลค่าไฟ และได้แอร์ที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง ...



อย่าเพิ่งซื้อบ้าน ถ้ายังไม่รู้สิ่งนี้ !!!

ซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง?

คำถาม ... จะซื้อบ้าน ต้องดูอะไรบ้าง? เฉลย ... บ้านคือหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการ และในการซื้อบ้านนั้นเป็นการตัดสินใจทางการเงินค...

ความรู้รอบตัว...แนะนำ